Latest Articles

เมนส์ไม่มาจะท้องไหม ? สามารถตรวจสอบได้อย่างไร

เมนส์ไม่มาจะท้องไหม

เมนส์ไม่มาควรทำอย่างไร เมนส์เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แบบไหน ปัญหาสุขภาพจากการเมนส์ไม่มา หรือมาไม่ปกตินั้นอาจมีมากกว่าที่คุณคิด ลองทำความรู้จักกับเมนส์ให้ดียิ่งขึ้นก่อนการไขปัญหาที่ว่าเมนส์ไม่มาจะท้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้อย่างไร 

ทำความเข้าใจเรื่องของเมนส์ (ประจำเดือน)เบื้องต้น

ประจำเดือน หรือ เมนส์ คือภาวะที่ผู้หญิงมีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือน เพื่อแสดงถึงความพร้อมเมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่สร้างเยื่อบุผนังมดลูกหนาขึ้น และหลุดลอกออกเมื่อไม่มีการปฏิสนธิ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีประจำเดือนทุกๆ 21-35 วัน และมาครั้งละไม่เกิน 7 วัน แต่ในบางครั้งผู้หญิงอาจมีภาวะเมนส์ไม่มา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ

  • ปฐมภูมิ คือผู้หญิงอายุ 18 ปีแต่ยังไม่มีประจำเดือน
  • ทุติยภูมิ คือผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนแล้ว แต่เมนส์ไม่มานานหลายเดือน

แน่นอนว่าการที่ประจำเดือนไม่มายังมีสาเหตุย่อยๆ แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

เมนส์ไม่มาเกิดจากอะไรได้บ้าง ?

เมนส์ไม่มา ตรวจครรภ์

1. ตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สามารถพบได้บ่อยมากที่สุดเมื่อเมนส์ไม่มา ซึ่งอาการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งครรภ์ในเดือนแรกไปจนถึงช่วงให้นมบุตร โดยถ้าหากคุณต้องการทราบว่าอาการเมนส์ไม่มาเกิดจากสาเหตุนี้หรือไม่ คุณสามารถตรวจครรภ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่

  • ผ่านชุดทดสอบการตั้งครรภ์ เป็นวิธีทดสอบการตั้งครรภ์เบื้องต้นที่มีความสะดวก ง่าย และรวดเร็วมากที่สุดเพราะสามารถหาซื้อชุดทดสอบได้ตามร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยา โดยแบ่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ การจุ่ม การหยด และการปัสสาวะผ่าน
  • ผ่านห้องปฏิบัติการ มีลักษณะคล้ายกับการตรวจผ่านชุดทดสอบ แต่การตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้นที่สถานพยาบาล โดยทางสถานพยาบาลจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อนำไปตรวจสอบ และผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างมีความแม่นยำ
  • ผ่านการเจาะเลือด เป็นวิธีทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีความแม่นยำมากที่สุด โดยสามารถรู้ผลลัพธ์ได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ เพราะเป็นการตรวจจากฮอร์โมนที่อยู่ภายในเลือด
  • ผ่านการอัลตราซาวด์ ด้วยการส่งคลื่นสัญญาณไปยังส่วนต่างๆ ของมดลูก ทำให้สามารถรู้ถึงรายละเอียดอื่นๆ ของทารกได้ เช่น ตำแหน่ง อายุครรภ์ จำนวนทารก ฯลฯ

2. เข้าสู่วัยทอง

อีกหนึ่งสาเหตุของอาการเมนส์ไม่มาที่พบได้มากคือ ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน มักเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุ 45-55 ปี หรือตั้งแต่อายุ 40 ปี โดยนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจึงส่งผลให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ

3. ฮอร์โมนไม่สมดุล

เมนส์ไม่มาอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนภายในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งอาจมีที่มาจากเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองหรือต่อมไทรอยด์ โดยยังรวมไปถึงการมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ หรือระดับเทสโทสเตอโรนสูงอีกด้วย

4. น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากเกินไป

การที่ผู้หญิงมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากเกินไปยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นเดียวกัน โดยจะส่งผลต่อระบบร่างกายคือ

  • ผู้ที่มีน้ำหนักลดลงไปมาก มักเกิดจากการรับประทานอาหารน้อยจนไม่มีสารอาหารเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นการไข่ตก
  • ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจนส่งผลต่ออาการเมนส์ไม่มา

5. ออกกำลังกายมากเกินไป

การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงอาจส่งผลต่อรอบเดือนเช่นกัน เพราะการหักโหมร่างกายมากเกินไปมีโอกาสทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่อาการเมนส์ไม่มาได้ เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไปนั่นเอง

เมนส์ไม่มา เครียด

6.ความเครียด

ความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้เมนส์ไม่มาได้อย่างน่าตกใจ โดยถ้าหากคุณมีความเครียดมากเกินไปก็อาจส่งให้เกิดอาการปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน หรือรอบเดือนมีความผิดปกติ เช่น มามาก มาน้อย ไปจนถึงประจำเดือนขาดหายไป

7. รับประทานยาคุมกำเนิด

เพราะการใช้ยาคุมทั้งแบบที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ยาคุมแบบฉีด หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน จะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกายได้ ดังนั้นถ้าหากคุณมีการรับยาคุมก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายหรือมีความผิดปกติได้ และเมื่อคุณหยุดการใช้ยาคุมก็จะทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม

8. มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

คือภาวะที่ผู้หญิงมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ จะทำให้ถุงไม่ปล่อยไข่ตกจนกระทบต่ออาการเมนส์ไม่มาในที่สุด

9. ปัญหาอื่นๆ

นอกจากนี้ ประจำเดือนขาดหายยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ท้องนอกมดลูก ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อเมนส์ไม่มา

เมื่อคุณผู้หญิงท่านใดมีอาการเมนส์ไม่มา สามารถแก้ไขได้เบื้องต้นด้วยการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ดังนี้

  • ลดความเครียด เพิ่มความผ่อนคลายมากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสม
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เมนส์ไม่มา ปฏิทิน

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

เมื่อคุณดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองแล้ว แต่ยังมีปัญหาประจำเดือนขาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและรักษา โดยถ้าหากพบสาเหตุของปัญหาเมนส์ไม่มาที่เกิดจากระบบร่างกาย แพทย์จะรักษาอาการดังกล่าวด้วยวิธีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • ฮอร์โมนไม่สมดุล ให้ฮอร์โมนเสริมหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
  • ถุงน้ำรังไข่หลายใบ จ่ายยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
  • รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด รักษาด้วยยาคุมกำเนิดแบบเม็ดหรือกลุ่มยาฮอร์โมนทดแทน
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จ่ายยาที่ช่วยหยุดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ของต่อมไทรอยด์

สรุป

อาการเมนส์ไม่มา เป็นปัญหาที่ผู้หญิงจำเป็นต้องใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ เพราะประจำเดือนสามารถบ่งบอกได้ถึงสภาพร่างกายของผู้หญิงทุกคน ดังนั้นถ้าหากประจำเดือนมาผิดปกติและได้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว แต่ยังมีอาการอยู่คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบถึงสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง

Medcare พร้อมให้คำปรึกษาเบื้องต้นสำหรับผู้หญิงที่เมนส์ไม่มา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างตรงจุด เพียงแค่ Add LINE https://liff.line.me/1656211307-YZBwnXVm หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://en.medcare.asia/ เราพร้อมจัดหายาจากร้านยาใกล้ภายส่งถึงมือคุณใน 1 ชั่วโมงเท่านั้น

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง